วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แมวไทย



แมวไทย


แมวไทย คือแมวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย คุณสมบัติที่ทำให้แมวไทยเหนือกว่าแมวชนิดอื่น คือ อุปนิสัย แมวไทยมีความฉลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือ รักความอิสระของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่ จะกิน จะดื่ม หรือจะไปไหนตามที่ใจชอบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น สีสันตามตัวของแมวไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักรักแมวรู้สึกสุขใจยามได้มอง ไม่ว่าจะเป็น วิเชียรมาศ เก้าแต้ม ขาวมณีหรือขาวปลอด นิลรัตน์หรือดำปลอด ศุภลักษณ์หรือ ทองแดง สีสวาดหรือแมวไทยพันธุ์โคราช ต่างล้วนได้รับความสนใจ จากเจ้าของและผู้สนใจทั้งสิ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษชื่อนาย โอเวน กูลด์ (Owen Gould) แมวไทยคู่นี้ชนะการประกวดแมวที่ กรุงลอนดอน และทำให้ชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงแมวไทยมากขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก และแมววิเชียรมาศก็เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า "Siamese Cat" หรือแมวสยาม นับแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมา จวบจนถึง สมัยรัชกาลที่ 5 ลาวได้อพยพสู่สยามโดยการกวาดต้อนครัวเรือนชาวลาวไปสยามจำนวนมาก พวกสัตว์ประเภทต่างๆก็คงได้อพยพไปด้วย แมวไทยอาจมีสายเลือดแมวลาวปนอยู่ด้วยอย่างมาก
สำหรับในประเทศไทย คนไทยที่เป็นที่รับรู้ดีว่าชอบเลี้ยงแมวไทย อาทิ เช่น นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายพิชัย วาสนาส่ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็นต้น

ชนิดของแมวไทย

แมวไทย (วิฬาร) ที่ยังเหลือให้พบเห็นในปัจจุบันนี้มี 6 ชนิดคือ วิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ โกญจา ขาวมณี และแซมเสวตร แต่แท้จริงแล้วในสมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยว่ามีทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็นแมวให้คุณ 17 ชนิด และ แมวร้ายให้โทษอีก 6 ชนิด

แมวให้คุณ 17 ชนิด



  1. วิเชียรมาศ เมื่อแรกเกิดมีขนสีขาวหมด พอโตขึ้นจะมีสีเปลี่ยนเป็นสีครีมอ่อน ๆ แต่ที่หน้า หาง เท้าทั้งสี่หูทั้งสองข้าง และที่อวัยวะเพศอีก 1 แห่งรวมเก้าแห่งมีสีน้ำตาล (สีเข้ม) มีนัยน์ตาประกายสีฟ้าสดใส เลี้ยงไว้มีคุณค่ายิ่งลำนักหนา จักนำโภคาพิพัฒน์สมบัติเพิ่มพูล



    

แมววิเชียรมาศ ตรงกับความหมายว่า "เพชรแห่งดวงจันทร์" หรือ "Moon Diamond" บางตำราก็เรียก "แมวแก้ว" ซึ่งก็ตรงกับคำว่า "วิเชียร" แมวชนิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแมวเก้าแต้มเสมอ ที่จริงแล้วไม่ถูกต้อง แมวเก้าแต้มคือแมวที่มีสีพื้นสีขาว และมีแต้มบนร่างกาย 9 แห่ง เหตุที่มักเข้าใจผิดเพราะแมววิเชียรมาศ จะมีสีพื้นสีขาวงาช้าง (หรือโบราณจะเป็นขาวล้วนก็ไม่ทราบ) และมีแต้มที่จมูกครอบไปถึงปากเป็นหนึ่งแห่ง กับขาทั้งสี่ หูสอง หางหนึ่ง และที่อวัยวะเพศอีกหนึ่ง รวมเป็น 9 แห่งเช่นกัน ในแมววิเชียรมาศนี้แต้มตามตำราว่าไว้ว่าต้องเป็นสีดำดังหมึกวาด แต่ปัจจุบันเมื่อดูให้ดีแล้วจะเป็นแต้มสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ไม่ได้ดำสนิท หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า Seal brown หรือแต้มสีครั่ง แมววิเชียรมาศเป็นที่รู้จักในต่างประเทศโดยใช้ชื่อว่า แมวสยาม (Siamese Cat) แต่ต่างประเทศจะมีแต้มสีอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งประเทศไทยจะยอมรับเฉพาะแมวที่มีแต้มสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น นัยน์ตาสีฟ้าก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแมวชนิดนี้

แมววิเชียรมาศ เป็นแมวไทยโบราณที่มักเลี้ยงกันในวัง ตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นแมวมงคลตามตำรา มักกล่าวว่าแมวมงคลคนธรรมดาสามัญชนไม่สามารถเลี้ยงได้ เมื่อสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 แมวไทย 17ชนิดในพระราชวังของกรุงศรีอยุธา ได้ถูกพวกพม่า และเชลย ได้นำไปพม่า เพราะพม่าคิดว่า แมวไทยคือทรัพย์สินที่มีค่าชนิดนึงเนื่องจากแมวไทยในอยุธยาสามารถซื้อขายได้ถึง 1แสนตำลึงทอง หากใครมีแมวชนิดนี้จึงนำมาขายแก่วัง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้แมวไทยสูญพันธุ์ หลังจากนั้น แมววิเชียรมาศก็สาบสูญหายไปจากประเทศไทย ต่อมา สมเด็จพุฒาจารย์ พุทธสโร ได้ไปเที่ยวกรุงศรีอยุธยาร้าง แล้วไปเจอสมุดข่อยที่ไม่ถูกเผา จึงนำสมุดข่อยกลับมา แล้วให้คนไปไล่ต้อนจับแมววิเชียรมาศ จนได้แมววิเชียรมาศกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน : ขนสั้นแน่นสีขาว หรือสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มสีครั่ง หรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวเพศผู้และแมวเพศเมีย) รวม 9 แห่ง ขณะที่อายุยังน้อย หรือเป็นลูกแมว สีขนจะออกสีครีมอ่อนๆ หรือขาวนวล พอโตขึ้นสีจะค่อยๆ เข้มขึ้นตามลำดับจนเป็นสีน้ำตาล (สีลูกกวาด)
  • ลักษณะของส่วนหัว : รูปหัวไม่กลม หรือแหลมเกินไป หน้าผากใหญ่และแบน จมูกสั้น หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
  • ลักษณะของนัยน์ตา : ตาสีฟ้า
  • ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว


ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป มีแต้มสีไม่ครบทั้ง 9 แห่ง แต้มสีอื่นที่ไม่ใช่สีน้ำตาลไหม้ นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่นๆ ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นเกินไป (เมื่อยืนขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี


บทกวีที่กล่าวถึงแมววิเชียรมาศ

ปากบนหางสี่เท้าโสตสอง
แปดแห่งดำดุจปองกล่าวไว้
ศรีเนตรดั่งเรือนรองนาคสวาดิ ไว้เอย
นามวิเชียรมาศไซร้สอดพื้นขนขาว







  1. ศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง สีขนเป็นสีทองแดงตลอดตัว มีนัยน์ตาเป็นประกาย ใครเลี้ยงจักได้ยศถา ยิ่งพ้นพรรณนาเป็นอำมาตย์มนตรี

แมวศุภลักษณ์ เรียกอีกชื่อว่า แมวทองแดง มีสีทองแดงหรือน้ำตาลแดงเข้มทั่วตัว อาจมีสีเข้มเป็นพิเศษตำแหน่งเดียวกับแมววิเชียรมาศ แมวทองแดงมีรูปร่างขนาดกลาง สง่า น้ำหนักตัวพอประมาณ ขายาวเรียวฝ่าเท้าอวบ ศีรษะค่อนข้างกลมกว้าง ด้วยสีขนออก น้ำตาลเข้ม เหมือนกับสีของทองแดง มีตาสีออกเหลือง หรือ สีอำพัน หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง และบริเวณตามส่วนของร่างกาย เช่นหน้า หู ปลายขา และ หางจะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆไป แมวพันธุ์ศุภลักษณ์จะมีสีสันสะดุดตาอย่างมาก และ มีความสวยงาม สมกับคำว่า "ศุภลักษณ์" ที่แปลว่าลักษณะที่ดี ว่ากันว่าแมวชนิดนี้เป็นแมวที่ได้ติดตามเจ้าของที่เป็นคนไทยซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกที่พม่า เมื่อความนิยมได้แพร่หลายมากขึ้น ชาวต่างชาติจึงได้นำไปจดทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์หนึ่งของโลก โดยใช้ชื่อว่า เบอร์มีส (Burmese) แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองไทย
แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ อยากรู้อยากเห็น ชอบผจญภัย รักอิสระเสรีเหนืออื่นใด ชอบสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับคนแปลกหน้าแล้วมันดูจะเป็นแมวที่ร้ายพอสมควร
ปัจจุบัน ในเมืองไทยหายากมากแต่มีทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งได้มีการพัฒนาผสมพันธุ์กัน จนได้แมวในลักษณะ สีอื่น ๆ มากมาย ทำนองคล้ายพันธุ์วิเชียรมาศที่แยกออกไปถึง 8 พันธุ์
แมวศุภลักษณ์ เป็นแมวโบราณที่บุคคลชั้นสูงมักจะเลี้ยงกัน เพราะเป็นแมวที่ดี ผู้ใดได้ครอบครองจะร่ำรวย และจะความสุข สุขภาพดี การงานรุ่งเรื่อง ดังนั้นบุคคลชั้นสูงในสมัยก่อนจึงนิยมเลี้ยงแมวพันธุ์นี้

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีน้ำตาลเข้มคล้ายสีสนิม (สีทองแดง) บริเวณส่วนหู ใบหน้า ปลายขา หาง จะมีสีน้ำตาลเข้มกว่าบริเวณลำตัวทั่วๆ ไป
  • ลักษณะของส่วนหัว : ค่อนข้างกลมและกว้าง หนวดมีสีเหมือนลวดทองแดง หูใหญ่
  • ลักษณะของนัยน์ตา : แมวชนิดนี้จะมีดวงตาออกเป็นลักษณะเหลืองๆ หรือออกสีอำพัน หนวดของแมวศุภลักษณ์จะมีสีแวววาวเหมือนกับลวดทองแดงเลยทีเดียว
  • ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายหางแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขาวยาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป สีอ่อนเกินไป มีแต้มสีขาวปน เช่น ที่บริเวณหน้าอก หรือช่องท้อง มีไม่สม่ำเสมอ เช่น มีลายเห็นเป็นทางตามลำตัว โดยเฉพาะตามใบหน้า ขาและหาง นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี


บทกวีที่กล่าวถึงแมวศุภลักษณ์


ภาพแมวศุภลักษณ์จากสมุดข่อยโบราณ
วิลาศุภลักษณ์ล้ำวิลาวรรณ
ศรีดังทองแดงฉันเพริศแพร้ว
แสงเนตรเฉกแสงพรรณโณภาษ
กรรษสรรพโทษแล้วสิ่งร้ายคืนเกษม

มาเลศ หรือ แมวโคราช หรือ สีสวาด มีขนสีดอกเลาเปรียบเสมือนกับเมฆสีเทายามฟ้ายับฝน มีนัยน์ตาหยาดเยิ้มประหนึ่งนำค้างย้ยต้องกลีบบัว ใครพบเร่งให้อุปถัมภ์ แมวนั้นจักนำมาซึ่งสุขสวัสดิ์มงคล
แมวโคราช หรือ แมวมาเลศ ต้นกำเนิดพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันในนามว่าโคราช มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวโคราชในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 1350-1767 หรือประมาณ พ.ศ. 1893-2310 ในบันทึกได้กล่าวถึงแมวที่ให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย รวมถึงแมวโคราชด้วย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้ถูกเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
แมวเพศผู้มีสีเหมือนดอกเลา จึงเรียก แมวสีดอกเลา โดยจะต้องมีขนเรียบ ที่โคนขนจะมีสีขุ่น ๆ เทา ในขณะที่ส่วนปลายมีสีเงิน เป็นประกายคล้ายหยดน้ำค้างบนใบบัว หรือเหมือนคนผมหงอก
ชื่อแมวโคราช เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[1] โดยใช้แหล่งกำเนิดของแมวเป็นชื่อเรียกพันธุ์แมว มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมีโชคลาภมากเท่านั้น (แม้ว่าลักษณะหางหงิกงอไม่ใช่มาตรฐานพันธุ์ตามหลักของ CFA ก็ตาม) แต่คนไทยบางกลุ่มจะเรียกแมวโคราชว่า แมวสีสวาด
แมวโคราชได้ถูกนำไปเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกโดย Cedar Glen Cattery ในมลรัฐโอเรกอน โดยได้รับมาจากพี่น้องชื่อ นารา (Nara) และ ดารา (Darra) ในวันที่ 12 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2502 ประมาณเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2509 นักผสมพันธุ์แมวโคราชและแมวไทย (วิเชียรมาศ) ชาวรัฐแมริแลนด์ ได้นำแมวโคราชประกวดในงานประจำปีและ ได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นที่รู้จัก
ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้แมวโคราชขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทย ในปี พ.ศ. 2552

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน : ขนสั้น สีสวาด (silver blue) ทั่วทั้งตัวและเป็นสีสวาดตั้งแต่เกิดจนตาย
  • ลักษณะของส่วนหัว : หัวเมื่อดูจากด้านหน้าจะเป็นรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่และแบน หูตั้ง ในแมวตัวผู้หน้าผากมีรอยหยักทำให้เป็นรูปหัวใจเด่นชัดมากขึ้น หูใหญ่ตั้ง ปลายหูมน โคนหูใหญ่ ผิวหนังที่บริเวณจมูกและริมฝีปากสีเงิน หรือม่วงอ่อน
  • ลักษณะของนัยน์ตา : นัยน์ตาสีเขียวสดใสเป็นประกาย หรือสีเหลืองอำพัน ขณะยังเป็นลูกแมวตาจะเป็นสีฟ้า เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด และเมื่อเติบโตเต็มที่ตาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวใบไม้ หรือสีเหลืองอำพัน
  • ลักษณะของหาง : หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อย ๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว
คนสมัยโบราณมีความเชื่อว่า แมวสีสวาดเป็นแมวนำโชคลาภของคนโคราช และคนเลี้ยงทั่ว ๆ ไป จะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิมงคลแก่ผู้เลี้ยง แมวสีสวาดเคยประกวดชนะเลิศในระดับโลกมาแล้วในปี พ.ศ. 2503 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นแมวตัวเมียชื่อว่าสุนัน และเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก จึงนับว่าแมวไทยได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก

ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวเกินไป มีสีอื่นปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป (เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี

บทกวีที่กล่าวถึงแมวมาเลศ

วิลามาเลศพื้นพรรณกาย
ขนดังดอกเลารายเรียบร้อย
โคนขนเมฆมอปลายปลอมเสวตร
ตาดั่งน้ำค้างย้อยหยาดต้องสัตบง
โกนจา หรือ โกญจา แปลว่า นกกระเรียน[1] แมวชนิดนี้เป็นแมวสีดำสนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลักษณะเป็นขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมแต่ไม่โต มีปากเรียวแหลม หูตั้ง นัยตาเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือทองอ่อน อาจเปรียบได้กับดอกบวบแรกแย้มหรือทองดอกบวบ รูปร่างสะโอดสะองคล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ มีความสง่างามขณะเคลื่อนไหว
แมวสายพันธุ์โกนจา มีลักษณะคล้ายกับแมวสายพันธุ์ต่างชาติอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ บอมเบย์

ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน ขนสั้น สีดำตลอดทั้งตัว
  • ลักษณะของส่วนหัว รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
  • ลักษณะของนัยน์ตา นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
  • ลักษณะของหาง หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อย ๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว


ลักษณะที่เป็นข้อด้อย

ขนยาวมากเกินไป ขนมีสีอื่นปะปน นัยน์ตาสองข้างเป็นคนละสี หรือเป็นสีอื่น ตาเอียง จมูกหัก หูไม่ตั้ง หางสั้นมากเกินไป ( เมื่อยืดขาหลังให้ขนานกับหาง ความยาวของหางสั้นกว่าขาเกิน 3 นิ้ว ) หางขอด หางหงิกงอ หางสะดุด ปลายหางคด ดุเกินไป เลี้ยงลูกไม่ดี


บทกวีที่กล่าวถึงแมวโกนจา


ภาพแมวโกนจาจากสมุดข่อยโบราณ
กายดำคอสุดท้องขาขนเลเอียดเฮย
ตาดั่งศรีบวบกลดอกแย้ม
โกนจาพนนิพนธ์นามกล่าว ไว้นา
ปากแลหางเรียวแฉล้มทอดเท้าคือสิงห์

นิลรัตน์ สีดำทั้งตัว รวมถึงเล็บ ลิ้น ฟัน ดวงตา และกระดูก หางยาวตวัดได้จนถึงหัว เลี้ยงไว้แล้วเชื่อว่าจะมีความเจริญ มีทรัพย์ ปราศจากอันตราย

แมวนิลรัตน์ เป็นแมวมีสีดำสนิททั้งตัว ขนเป็นมันแวววาว นอกจากนั้น เล็บ ลิ้น ฟัน และนัยน์ตา ยังเป็นสีดำอีกด้วย หางเรียวยาว ตวัดได้ถึงศีรษะ ค่อนข้างหายาก หากใครเลี้ยงไว้จะได้ทรัพย์สินเพิ่มพูน


บทกวีที่กล่าวถึงแมวนิลรัตน์

สมยานามชาติเชื้อนิลรัตน์
กายดำสิทธิสามรรถเลิศพร้อม
ฟันเนตรเล็บลิ้นทัตนิลคู่ กายนา
หางสุดเรียวยาวน้อม







นอบโน้มเสมอเศียร



วิลาศ มีลำตัวสีดำจากคอไปตลอดท้อง จากสองหูไปจนถึงหางและขาทั้งสี่มีสีขาว ตาสีเขียว เชื่อว่าเลี้ยงไว้แล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีเงินทองมากมาย

  1.  เก้าแต้ม มีสีขาวเป็นพื้น มีแต้มสีดำเก้าจุดที่คอ
     หัว ต้นขาหน้าและหลังทั้งสองข้างและที่ท้ายลำตัว 
    เชื่อว่าเลี้ยงไว้แล้วจะรุ่งเรืองทางการค้าขาย



แมวเก้าแต้ม เป็นแมวสีขาว มีสีดำแต้มสีดำรวมเก้าแห่ง คือ บริเวณหัว คอ โคนขาหน้าและโคนขาหลังหลังทั้ง 4 ข้าง ไหล่ทั้ง 2 ข้าง และโคนหาง ลักษณะแต้มสีดำนี้จะเป็นวงกลมหรือปื้นเหลี่ยมก็ได้ ปลายหางเรียวยาว สีขาว ใครได้แมวเก้าแต้มไว้เลี้ยงดูก็จะทำให้การค้าขายรุ่งเรือง ร่ำรวย คนไทยโบราณมักเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก


  1. รัตนกำพล ตัวขาวเหมือนหอยสังข์ แต่รอบตัวตรงส่วนอกมีลักษณะคล้ายสายคาดสีดำ ตาสีเหลือง เชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะมียศ ผู้อื่นยำเกรง

แมวรัตนกำพล มีขนสีขาวดั่งหอยสังข์ยกเว้นบริเวณลำตัวมีสีดำคาดไว้ นัยน์ตาสีทอง ตามความเชื่อ ถ้าใครเลี้ยงไว้จะมียศถาบรรดาศักดิ์ และมีอำนาจบารมี







  1. นิลจักร มีลำตัวดำสนิท ที่คอมีขนสีขาวอยู่รอบเหมือนกับปลอกคอ เชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะมีทรัพย์มาก

นิลจักร เป็นแมวสีดำอีกชนิดหนึ่ง บริเวณลำคอมีขนขาวเป็นวง เหมือนมีจักรหรือพวงมาลัยคล้องคอ ใครเลี้ยงไว้ จะมากด้วยทรัพย์สินเงินทอง





  1. มุลิลา ลำตัวดำ หูสองข้างมีสีขาว ตามีสีเหลืองเหมือนดอกเบญจมาศ เชื่อว่าแมวชนิดนี้เหมาะกับนักบวชเลี้ยงเพราะช่วยให้มีการเล่าเรียนดีสมปรารถนา

แมวมุลิลา แมวมุลิลานี้ เป็นแมวขนสีดำ ขนเรียบเป็นมัน แต่บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองราวกลีบดอกเบญจมาศ แมวชนิดนี้ ตำราว่าให้เลี้ยงได้เฉพาะพระสงฆ์ ไม่ควรเลี้ยงตามบ้าน









  1. กรอบแว่น หรือ อานม้า มีปานลักษณะอานม้าบนหลัง เชื่อว่าแมวชนิดนี้มีราคาสูงถึงแสนตำลึงทองคำ และให้เกียรติยศแก่เจ้าของ

กรอบแว่น หรือ อานม้า เป็นแมวมีขนสีขาวทั้งตัว ยกเว้นกลางหลังนั้นจะมีสีดำเหมือนอานม้าอยู่ และบริเวณขอบตาทั้งสองข้างเป็นสีดำ เหมือนกรอบแว่นตา ใครเลี้ยงไว้จะมีค่ามหาศาล และทำให้มีเกียรติยศชื่อเสียง








  1. ปัดเสวตร หรือ ปัดตลอด ตัวมีสีดำเป็นพื้น ตั้งแต่จมูกไปตามแนวสันหลังถึงปลายหางมีสีขาว ตาเหลืองคล้ายกับพลอย หากเลี้ยงไว้จะมีความเจริญมากกว่าคนในสกุลเดียวกันและได้ลาภยศ











  1. กระจอก ไม่กระจอกเหมือนชื่อ ลำตัวกลมมีสีดำ รอบปากมีสีขาว ตาสีเหลือง เลี้ยงแล้วเชื่อกันว่าจะได้ที่ดินเงินทอง ไพร่ก็จะได้เป็นเจ้านายคน


กระจอก เป็นแมวดำลักษณะคล้ายแมวสิงหเสพย์แต่ลำตัวอ้วนกลมน่ารักกว่า ขนดำเป็นมัน มีสีขาวที่รอบปากเท่านั้นส่วนอื่นๆ คล้ายกัน นัยน์ตาสีเหลือง ใครเลี้ยงไว้จะได้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นไพร่จะได้กลายเป็นนาย


ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน ขนสั้น สีดำ มีขนสีขาว รอบจมูก
  • ลักษณะของส่วนหัว รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
  • ลักษณะของนัยน์ตา นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
  • ลักษณะของหาง หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว



  1. สิงหเสพย์ หรือ โสงหเสพย์ ลำตัวมีสีดำ ที่ปาก รอบคอ จมูกมีสีขาว ตาสีเหลือง ท่าทางเดินสง่าเหมือนสิงโต เลี้ยงแล้วมีสิริมงคล


แมวสิงหเสพย์ หรือ แมวโสงหเสพย แมวชนิดนี้มีขนสีดำทั้งตัว แต่มีสีขาวอยู่บริเวณริมฝีปาก จมูกและรอบคอ นัยน์ตาสีเหลืองทอง ใครเลี้ยงไว้จะทำให้มีสมบัติเพิ่ม


ลักษณะที่เป็นข้อเด่น

  • ลักษณะสีขน ขนสั้น สีดำ มีขนสีขาวรอบจมูก และที่คอ
  • ลักษณะของส่วนหัว รูปหัวกลมไม่ใหญ่มาก หูใหญ่ ตั้งสูงเด่นบนส่วนหัว
  • ลักษณะของนัยน์ตา นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม (สีเหลืองอมเขียว)
  • ลักษณะของหาง หางยาว ปลายแหลมชี้ตรง โคนหางใหญ่และค่อยๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว



  1. การเวก ลำตัวสีดำ จมูกสีขาว ตาเป็นประกายสีทอง เชื่อกันว่าภายใน 7 เดือนที่ได้มาเลี้ยงจะได้ยศศักดิ์และลาภจำนวนมาก

แมวการเวก เป็นแมวดำอีกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ดำหมดทั้งตัว จะมีแต่ปลายจมูกที่มีแต้มสีขาวเล็กน้อย นัยน์ตาทั้งสองข้างสีเหลืองอำพันสดใส ถ้าได้เลี้ยงจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของเปลี่ยนฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ




  1. จตุบท ตัวสีดำ เท้าทั้งสี่มีสีขาว ตาสีเหลืองเหมือนดอกโสน เชื่อว่าให้คุณกับคนเลี้ยง แต่ไม่เหมาะกับคนทั่วไป สมควรเลี้ยงแก่บุคคลชั้นสูงหรือราชินิกูลเท่านั้น

แมวจตุบท เป็นแมวสีดำ นอกจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงข้อพับทั้งสี่ข้างเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลืองคล้ายดอกโสน ตำราว่าแมวชนิดนี้คนธรรมดาไม่ควรเลี้ยง ควรเลี้ยงเฉพาะราชนิกูล หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น




  1. แซมเสวตร มีขนสีดำแซมขาว มีขนบางและสั้งรูปร่างเพรียว มีนัยน์ตาดั่งหิ่งห้อย เลี้ยงดีมีคุณหนักหนา จงเร่งหามาเลี้ยงเทอญอย่าแคลงสงสัย

  2. แมวแซมเสวตร แปลว่า "แซมสีขาว" เป็นแมวชนิดนี้มีขนสีดำ แซมด้วยสีขาวไปทั้งตัว แต่ขนบางและค่อนข้างสั้น รูปร่างบางเพรียว ตามีสีเขียวเหมือนแสงหิ่งห้อย เดิมทีเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้พบอีกครั้ง




    แมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด


    1. ทุพลเพศ มีขนสีขาว ดวงตาสีแดงดั่งโลหิตทาตาไว้ มีนิสัยไม่ดีชอบลักขโมยปลาไปกินทุกคำคืน ใครเลี้ยงไว้จะให้โทษไม่เป็นสุขเกิดความเดือดร้อนแรงผลาญ

    2. พรรณพยัคฆ์ หรือ ลายเสือ มีขนลายเหมือนเสือ ลักษณะขนเหมือนชุบด้วยเกลือกับแกลบ มีนัยน์ตาสีแดงเจือสีเปือกตม มีเสียงร้องเหมือนเสียงผีโป่งร้องอยู่ตามป่าเขา ถือว่าเป็นแมวให้โทษอีกชนิดหนึ่ง

    3. ปีศาจ เป็นแมวที่กินลูกตัวเอง ออกลูกมากี่ตัวกินหมด ลักษณะขนสาก ตัวผอม หนังยาน โบราณจัดเป็นแมวร้ายอย่านำมาเลี้ยงไว้

    4. หิณโทษ เป็นแมวนำมาซึ่งสิ่งเลวร้าย นำภัยพิบัติมาสู่บ้าน ใครเลี้ยงไว้จะไม่เป็นมงคล ออกลูกมามักจะมีลูกตายอยู่ในท้อง

    5. กอบเพลิง เป็นแมวที่ลึกลับชอบซ่อนตัวหลบหลีกผู้คน พอมันเห็นคนมันจะเดินหรือรีบวิ่งหนี ใครเลี้ยงไว้จะมีโทษถึงตัว

    6. เหน็บเสนียด มีลักษณะเหมือนค่าง ชอบเอาหางขดซ่อนไว้ใต้ก้นเสมอ มีรูปร่างพิกลพิการ อย่าเลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้เสียชื่อเสียงและเกียรติยศ

    7. ขาวมณี

      ส่วน ขาวมณี หรือ ขาวปลอด นั้นถึงแม้ไม่มีปรากฏในตำราแมวไทย เพราะเชื่อว่าเพิ่งถือกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์นี่เอง แต่ก็จัดว่าเป็นแมวไทยมงคลด้วยเหมือนกัน


      สนับสนุนข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

1 ความคิดเห็น: